วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553

การหย่าร้าง

ปัญหาความแตกแยกระหว่างครอบครัว “การหย่าร้าง”
ชีวิตมีการเริ่มต้นก็ต้องมีจุดจบ มีเกิดก็ต้องมีตาย เมื่อถึงจุดจบ แต่ละคนก็เป็นไปตามวิถี ชีวิตของตน ชีวิตการแต่งงานก็เช่นกัน มีการสิ้นสุดลงโดยวิธีการหย่าร้าง การตายจากกัน การละทิ้ง การแยกกันอยู่ คู่สมรสอาจจะอยู่กันนาน บางคู่ก็อาจจะอยู่กันสั้น
การหย่าร้าง คือ การสิ้นสุดชีวิตแต่งงานของคู่สมรส เป็นการแตกแยกของบุคคลที่เคยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด การหย่าร้างในตัวของมันเองเป็นเรื่องเศร้า เป็นการทำลายความรัก ความเชื่อของบุคคลที่เคยผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง แต่การหย่าร้างก็ไม่ใช่ความเศร้าที่ถาวร เพราะอาจเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสุขได้เหมือนกัน
การหย่าร้างเป็นปัญหาการแตกแยกของครอบครัว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยเราการหย่าร้างมีกรณีที่จะยกเป็นข้ออ้างได้หลายกรณีคือ
• สามีหรือภรรยามีชู้ นอกใจซึ่งกันและกัน
• ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง หรือทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายหนึ่งบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งถึงบาดเจ็บ หรือหมิ่นประมาทอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
• สามีหรือภรรยาจงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินกว่าหนึ่งปี หรือไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยาอย่างร้ายแรง จนอีกฝ่ายหนึ่งไม่อาจจะอยู่กินเป็นสามีภรรยาต่อไป อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
• สามีภรรยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้จำคุกฐานลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ปล้นทรัพย์โจรสลัด หรือปลอมแปลงเงินตรา หรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดอย่างอื่นเกินกว่าสามปี อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
• สามีหรือภรรยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญและศาลยังไม่เพิกถอนคำสั่งนั้น อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
• สามีหรือภรรยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ เพราะเหตุวิกลจริตตลอดมาเกินกว่าสามปีนับแต่วันศาลสั่ง และความวิกลจริตนี้ ไม่มีทางรักษาให้หายได้ถึงขีดที่จะอยู่กินเป็นสามีภรรยาต่อไปไม่ได้อีกแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
• สามีหรือภรรยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
• สามีหรือภรรยาเป็นโรคติดต่อร้ายแรงอันอาจเป็นภัยอีกฝ่ายหนึ่ง และโรคนี้ไม่มีทางรักษาให้หายได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
• สามีหรือภรรยามีอวัยวะสืบพันธุ์ไม่สมบูรณ์จนไม่มีความสามารถจะอยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยาได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
ปัญหาการหย่าร้างมีผลกระทบทำให้เด็กในสังคมไทยก่อปัญหาทางสังคมมากมาย ด้วยสาเหตุที่เด็กอยู่ในครอบครัวแตกแยก จะขาดความรัก ความอบอุ่น มีความรู้สึกไม่มั่นคง เนื่องจากลูกเคยชินต่อสภาพพ่อแม่ให้ความรัก ความอบอุ่น และความมั่นใจแก่เขา แต่ความสัมพันธ์แบบนี้ต้องถูกทำลายไป ทำให้มีผลกระทบ
กระเทือนต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคล เช่น เด็กที่เคยยึดพ่อแม่เป็นแบบฉบับ ในเรื่องค่านิยม อารมณ์ แบบของความประพฤติที่ช่วยให้เด็กมีบุคลิกภาพที่ดี แต่เมื่อหน่วยของครอบครัวถูกทำลายลง ลูก ๆ บางครั้ง
ก็ไม่ทราบว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร ซึ่งอาจทำให้เขาผิดหวัง และมีเรื่องที่ทำให้สะเทือนใจ กลายเป็นเด็กกระทำผิด เช่น การประพฤติผิดทางเพศ ติด ยาเสพติด และการเป็นเด็กจรจัด ฯลฯ การปรับตัวของเด็ก หลังการหย่าร้าง ลูกมักจะอยู่กับแม่ ซึ่งมีผลกระทบกระเทือนต่อบุคลิกภาพของเด็ก เพราะทั้งพ่อและแม่จะเป็นคนอบรมเด็ก และเด็กก็เรียนรู้บทบาทจากพ่อและแม่ ซึ่งเป็นต้นฉบับสำหรับชีวิตของผู้ใหญ่ แต่ถ้าเหลือแต่แม่ และแม่ต้องทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่ โดยบางครั้งแม่ก็ไม่สามารถปลูกฝังพฤติกรรมแบบพ่อให้แก่ลูกได้ ทำให้เด็กมีปัญหาทางเพศ เช่น เด็กผู้ชายจะมีนิสัยเป็นผู้หญิง (ตุ๊ด) ในอีกแง่มุมเด็กที่ถูกเลี้ยงดูจากพ่อก็จะมีพฤติกรรมเลียนแบบพ่อ แต่อย่างไรก็ตามเด็กทั้งหญิงและชายโดยทั่วไปมักจะมีความใกล้ชิดชอบกับแม่มากกว่าพ่อ แม่จึงมีอิทธิพลโน้มน้าวจิตใจเด็กได้มากกว่า และในกรณีที่ครอบครัวไม่มีความสุข ลูกสาวและลูกชายมักจะเข้าข้างแม่มากกว่าพ่อ
การหย่าร้างเป็นการสิ้นสุดชีวิตแต่งงานของคู่สมรส ย่อมเป็นเรื่องเศร้าที่เกิดขึ้นใน สังคมไทย โดยเฉพาะผู้หญิงที่หย่าร้างมักจะต้องทำหน้าที่รับผิดชอบเลี้ยงดูลูก หรือ ทำงานหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว การลดปัญหาการหย่าร้างนั้น ทำได้ไม่ยากนักเพราะ เป็นความต้องการทั้งสองฝ่ายที่จะแยกกันอยู่อย่างเด็ดขาด ทางที่จะช่วยได้ก็คือ พยายามประวิงเวลาของการหย่าร้างไว้ก่อนถ้าเป็นไปได้ มีหลายคู่เหมือนกันที่มีเจตจำนงจะหย่าร้างกัน เจ้าหน้าที่ก็แนะนำหาเหตุผลประกอบทั้งผลดีและผลเสีย ทำให้เปลี่ยนใจภายหลังได้ อาจจะให้โอกาสแต่ละฝ่ายใช้เวลาไตร่ตรองให้นาน ๆ เสียก่อนได้ หรือถ้าหากพิจารณาคดีของการหย่าควรจะทำเป็นความลับ เพื่อไม่ให้แต่ละฝ่ายเสียชื่อเสียง นอกจากนั้นก็หาทางให้ การศึกษาเรื่องเพศศึกษาแก่ครอบครัว เพื่อเป็นการสอนแนวทางชีวิตเป็นจริงในสังคม เน้นหนักในด้าน การศึกษาอย่างแท้จริง เพราะจะเป็นภัยอย่างยิ่งถ้าถือว่าเป็นเรื่องลึกลับต้องห้าม เพื่อป้องกันปัญหาอันจะเกิดตามมาภายหลังจากการหย่าร้าง

นายณัฐพจน์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
เลขที่10 รปศ.502

1 ความคิดเห็น: